วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

ศิลปะสอนคนให้รู้จักตนเอง

สอนคนให้เป็นคน ก่อนที่จะสอนคนให้เป็นศิลปินหรือจิตรกร
…ศิลปะเด็กเป็นสื่อที่ดีในการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของเด็ก
ไม่ใช่การเตรียมคนให้เป็นศิลปินหรือจิตรกรในอนาคต…
               
         ศิลปะในโลกของเด็กๆ นั้นคือ การแสดงออกอย่างอิสระเสรี (Free Expression) อันเต็มไปด้วยความ
ซื่อบริสุทธิ์จริงใจ เปิดเผยและเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาประสาของเด็ก โดยปราศจากการเสแสร้ง ดัดจริตและ
ไร้มารยาสาไถยซึ่งนับว่าเป็นคุณสมบัติที่หายากในงานศิลปะของผู้ใหญ่ทั่วไปโดยเฉพาะมีศิลปินชั้นนำของโลก
เพียงบางท่านเท่านั้นเช่น ปิกัสโซ่, ชากาล, แคนดินสกี, ฯลฯ ที่มีความเข้าใจ และสามารถทำงานศิลปะที่บริสุทธิ์ คล้ายคลึงกับผลงานศิลปะของเด็กๆ
         แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่าในปัจจุบันนี้ศิลปะบริสุทธิ์ของบรรดาเด็กๆกำลังถูกผู้ใหญ่ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์
พยายามชักจูงและเกลี้ยกล่อมให้ทำงานศิลปะโดยเอารางวัลมาเป็นตัวล่อ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ตอบแทน ด้วยการยืมฝีมือของเด็กๆ ส่งผลงานไปประกวดและแข่งขันยังสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะครูศิลปะบางคนที่ยังขาดความเข้าใจในปรัชญาเกี่ยวกับศิลปะเด็กมักสำคัญผิดคิดว่าวิธีการส่งเสริม
ศิลปะสำหรับเด็ก คือ การประกวดและแข่งขันชิงรางวัลครูศิลปะและผู้ใหญ่ประเภทดังกล่าวนี้ จึงมักจะส่งเสริมกิจกรรมศิลปะโดยมุ่งหวังที่รางวัลแต่เพียงประการเดียวจนกระทั่งเด็กๆ หลายคนถูกชักนำให้กลายเป็นนักล่ารางวัลไปโดยไม่รู้สึกตัว
         พ่อแม่และผู้ปกครองตลอดจนผู้เกี่ยวข้องก็พลอยยินดีไปด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจเพราะคิดว่ารางวัลนั้น คือ ตัวแทนของความสามารถและเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความสำเร็จที่น้อยคนจะได้รับ บรรดาผู้ใหญ่ที่แสดงความรักเด็กในขณะเดียวกันก็รักรางวัลไปพร้อมๆ กันด้วยนี้ จึงพากันมุ่งส่งเสริมกิจกรรมศิลปะเพื่อต้องการเอารางวัล บางคนพยายามสืบเสาะดูว่าในการประกวดและแข่งขันศิลปะนั้นๆ มีใครเป็นกรรมการบ้าง กรรมการแต่ละคนมีรสนิยมอย่างไรเพื่อว่าที่จะได้กลับมาชี้แนะให้เด็กๆ ทำงานศิลปะให้ถูกใจกรรมการ หารู้ไม่ว่าพฤติกรรมเช่นนั้นเท่ากับเป็นการทำลายความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการที่สะอาดบริสุทธิ์ของเด็กๆ ตั้งแต่เยาว์วัย

อย่าสอนเด็กให้เป็นทาสรางวัล
     ผู้ใหญ่บางคนที่ต้องการส่งเสริมให้เด็กทำงานศิลปะเพื่อหวังแต่รางวัลจนเด็กตกเป็น
ทาสของรางวัลนั้น เคยสังเกตบ้างไหมว่าในดวงใจของเด็กที่เคยสะอาดสะอ้าน
บริสุทธิ์ น่ารัก และร่าเริง แจ่มใสอย่างมีชีวิตชีวาหลังจากถูกเพาะกิเลส ด้วยรางวัลจาก
ผู้ใหญ่ ได้กลับกลายเป็นเด็กที่มีหัวใจอันหยาบกระด้าง เห็นแก่ตัว เย่อหยิ่งยะโสก้าวร้าว บางครั้งอาการผิดหวัง ซึมเศร้า อิจฉาริษยา และโกรธแค้นชิงชัง เมื่อไม่ได้รับรางวัลอีก
         นอกจากนี้ ในบรรยากาศที่มุ่งประกวดและแข่งขันชิงรางวัลนั้น ในดวงตาของเด็กๆ ไม่ได้ถูกสอนไม่ได้ถูกสอนให้มองถึงความงดงามของศิลปะ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

รอบๆตัวแต่กลับมีนัยน์ตาเป็นประกายมองเห็นแต่รางวัลและสิ่งที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาให้หลงบูชา
ด้วยความชื่นชม เช่น เหรียญโล่ โบว์และกล่องของขวัญชนิดต่างๆ ซึ่งบางครั้งเมื่อแกะกล่องออกมาแล้วภายในเป็นเพียงสิ่งของราคาถูก และมักถูกโยนทิ้งลง
ถังขยะในที่สุด
             ทำไมเราไม่สอนให้เด็กรักศิลปะ แทนที่จะมุ่งแสวงหารางวัล คะแนนและสิ่งตอบแทนต่างๆ
ที่มอมเมาเด็กทำไมไม่สอนเด็กเป็นคนที่สมบูรณ์ก่อนที่จะสอนให้เด็กเป็นศิลปินหรือจิตรกรที่บางคนแต่งกาย
สกปรกผมเผ้ารกรุงรังคล้ายคนบ้าๆ บอๆ และมีพฤติกรรมที่แปลกๆ ประหลาด ซึ่งเด็กๆ ผู้อ่อนเยาว์ไม่สมควรจะเอาเป็นตัวอย่าง

รางวัลสร้างสรรค์หรือทำลาย
   ณ ที่ใดที่มีการประกวดและแข่งขันเพื่อชิงรางวัลที่นั้นย่อมจะต้องมีผู้ดีใจและเสียใจข ดังนั้น รางวัลจึงเปรียบเสมือน "ดาบสองคม" ที่คุณและโทษ ทางด้านหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นประโยชน์กล่าวคือ เป็นเครื่องหมายของการยกย่องให้เกียติ ซึ่งนำมาสู่ความภาคภูมิใจแก่ผู้ที่ได้รับ ถ้าหากรู้จักใช้อย่างพอเหมาะพอควร รางวัลจะเป็นแรงผลักดันสำคัญ ทำให้เกิดกำลังใจในทางสร้างสรรค์ที่ดีงาม ส่วนคมอีกด้านหนึ่งนั้นเป็นตัวทำลาย เนื่องจากการประกวดและแข่งขันมักจะถูกกำหนดเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ต่างๆ นานาจากผู้ดำเนินการในแต่ละครั้ง อาทิ เช่น การกำหนดเนื้อหาเรื่องราว เทคนิควิธีการและข้อจำกัดอื่นๆ ตามแต่ผู้จัดจะกำหนดโดยทั่วไปเด็กๆ จึงไม่มีโอกาสได้แสดงออกอย่างอิสระเสรี ซ้ำบางครั้งครูและผู้ปกครองที่มีความประสงค์อยากให้เด็กของตนได้รับรางวัล มักจะออกคำสั่งให้เด็กนั้นๆ ทำงานตามวิธีการของผู้ใหญ่ที่คิดว่าจะทำให้ผลงานนั้นดีกว่าหรือได้เปรียบกว่าผู้ประกวดและผู้แข่งขันคนอื่นๆ
   จากการชี้แนะและออกคำสั่งบงการให้เด็กต้องทนทำงานศิลปะตามลักษณะรูปแบบที่ผู้ใหญ่คาดหมายว่าจะได้รับรางวัล โดยที่เด็กไม่มีโอกาสใช้ความคิดของตนเองเลยนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าเด็กกำลังถูกแทรกแซงทางความคิดให้จำต้องสร้างงานศิลปะตามคำบงการของผู้อื่นโดยมีรางวัลเป็นสิ่งล่อใจ ซึ่งนอกจากไม่เป็นการส่งเสริมทัศนคติที่ดีต่อศิลปะเด็กแล้ว ยังเป็นการทำลายความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่บริสุทธิ์ของเด็กๆ ลงอย่างน่าเสียดายอีกด้วย

ผลจากการเป็นนักล่ารางวัล
         เด็กที่มีความสามารถทางศิลปะบางคนแทนที่จะมีความสุขและประสบความสำเร็จในการใช้ความถนัดทางธรรมชาติของตนตามความเหมาะสม บางครั้งได้กลายเป็นความโชคร้ายของเด็กคนนั้น เมื่อถูกผู้ใหญ่ใช้เป็นเครื่องมือในการประกวดแข่งขันตามเวทีศิลปะต่างๆ จนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไป
           แถวๆ ฝั่งธนมีคุณแม่อยู่คนหนึ่ง เป็นที่รู้จักกันในวงการว่าเป็นคนที่จุ้นจ้าน ชอบบงการชีวิตของลูกชายผู้รักศิลปะของตน บางครั้งจะโทรศัพท์หรือไม่ก็ไปพบกรรมการผู้เกี่ยวข้องกับศิลปะเด็กบางคน เพื่อปรึกษาหรือร้องทุกข์ถึงความผิดหวัง เจ็บปวดรวดร้าว เมื่อลูกชายสุดที่รักคนเดียวส่งภาพเขียนไปประกวดแล้วถูกกรรมการที่ไม่เอาไหนตัดสินให้รับรางวัลชมเชย ทั้งๆ ที่น่าจะได้รับรางวัลที่ 1
          คุณแม่ของจิตรกรรุ่นเยาว์ผู้เคราะห์ร้ายจะบ่นรำพันมาตามสาย เพื่ออธิบายให้เห็นถึงความสายตาสั้นของกรรมการผู้ตัดสินบางคน ที่มองไม่เห็นถึงความเป็นอัจฉริยะทางศิลปะของลูกรัก ตาต่ำ ไร้รสนิยม และขาดความยุติธรรมจนกระทั่งเห็นผลงานคนอื่นดีกว่า
           อันที่จริงกรรมการบางท่านก็อาจจะเป็นเช่นนั้นในบางครั้ง เพราะอาจถูกเชิญมาในฐานะศิลปิน จึงมีความคิดเป็นของตนเองและขาดความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กวัยต่างๆ เวลาพิจารณาตัดสินจะพูดอยู่เพียงสองคำเท่านั้นคือ "เอา" กับ "ไม่เอา" ถ้าไม่เอาก็หมายความว่าภาพเขียนชิ้นนั้นจะถูกนำไปกองในประเภทคัดออกไปอย่างรวดเร็ว บางครั้งในขนาดวางภาพหัวกลับก็สามารถตัดสินได้ อย่างไรก็ตามการพิจารณาตัดสินโดยทั่วไปก็มักจะมีการเชิญกรรมการหลายคน และยึดถือเสียงส่วนใหญ่เป็นข้อยุติ ดังนั้น เมื่อกรรมการตัดสินไปแล้วปรากฏผลเป็นอย่างไรก็ควรยอมรับ ถ้าหากไม่ยอมรับก็ไม่สมควรจะเข้าไปร่วมการประกวดและแข่งขันนั้นๆเสียตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ควรทราบด้วยว่าในการประกวดและแข่งขันย่อมไม่ใช่วิธีการส่งเสริมศิลปะเด็กที่เหมาะสมทุกประการ แต่เป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งเสมือนเป็น "สนาม" สำหรับประลองฝีมือทางศิลปะให้เด็กเกิดความกระตือรือร้นเท่านั้น

บทบาทในการส่งเสริมศิลปะเด็ก
          สรุปได้ว่า ผู้ที่เป็นพ่อแม่ ครู อาจารย์และผู้เกี่ยวข้องกับชีวิตของเด็กๆไม่สมควรมุ่งหวังที่ตัวรางวัลหรือส่งเสริมศิลปะเด็กเพื่อเตรียมตัวเป็นศิลปิน
หรือจิตรกรในอนคต เนื่องจากเด็กยังมีชีวิตอยู่อีกยาวนาน พ่อแม่หรือผู้หวังดีไม่ควรรีบร้อนกำหนดชีวิตอนาคตของเด็กว่าจะต้องมีอาชีพทางศิลปะ เช่น จิตรกรหรือศิลปินผู้มีชื่อเสียง
           แนวทางที่เหมาะสมสำหรับเด็กในวันนี้ เด็กๆทุกคนควรได้รับการส่งเสริม ให้แสดงออกทางศิลปะ เพื่อพัฒนาความคิด
ริเริ่มสร้างสรรค์ จินตนาการ และปลูกฝังศิลปะนิสัยที่ดีงามลงในตัวเด็ก เพื่อเตรียมเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในอนาคตต่อไป
           เมื่อถึงวันนั้นแล้วเราอาจจะได้บุคคลหลายๆวิชาชีพที่ล้วนแต่มีคุณภาพที่ดีหรือมีความคิดริเริ่มสร้าง
สรรค์สูง เช่น นายแพทย์ วิศวกร สถาปนิก นักการเมือง นักธุรกิจ แม่บ้าน หรือแม้แต่จะเป็นชาวนาหรือคนขับรถฯลฯทุกคนต่างก็จะมีคุณภาพของชีวิตที่ดี คือ สามารถพัฒนาตนเองและสังคมให้มีสภาพดีขึ้นกว่าปัจจุบันนี้
รองศาสตราจารย์เลิศ อานันทนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น