วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

ศิลปะการเป็นนักบริหาร

ศิลปะการเป็นนักบริหาร

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2555 เวลา 16:00 น.
ผมลงไปงานพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคใต้ 5 แห่ง ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้พบกับ ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเจ้าภาพ ท่านเล่าให้ฟังว่าเมื่อเดือนสองเดือนก่อนได้รับคัดเลือกจากวิทยาลัยการบริ หารเคลล็อกของมหาวิทยาลัยนอร์ท เวสเทิร์น มลรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีชื่อเสียงทั่วโลกด้านการบริหารจัดการให้ไปเข้าคอร์สอบรมหลักสูตรนัก บริหารระดับสูงร่วมกับนักบริหารการเงิน ธุรกิจ การศึกษา การปกครองชั้นนำทั่วโลกนานเดือนเศษ

ผมถามว่าหลักสูตรนี้เขาสอนอะไร กัน ที่ถามเช่นนี้เพราะเมืองไทยเราเองก็มีหลักสูตรผู้นำอยู่หลายหลักสูตร แต่ละหลักสูตรมีตัวย่อต่าง ๆ กันชวนให้เวียนหัว เช่น วตท. บยส. นปร. ปปร. ปรม. นบส. เป็นต้น ผมเองก็ไปเกี่ยวดองหนองยุ่งกับเขาอยู่บ้าง ถ้าไม่เป็นกรรมการหลักสูตรก็เป็นผู้บรรยาย บางทีเจอคนเรียนคนเดียวกันไปรับการอบรมทุกหลักสูตร จบแล้วคงกะเป็นนายกรัฐมนตรี!

ดร.ณรงค์เล่าว่าหลักสูตรนี้เน้นการเป็น ผู้นำ และการบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ผมชอบใจที่ ดร.ณรงค์เล่าว่าทางโน้นเขาปฐมนิเทศแต่แรกว่าการเรียนจะเป็นแบบการแสดง อุปรากรหรือ โอเปร่า แต่ไม่ใช่แบบการมาดู โอเปร่า หรือคอนเสิร์ต เพราะถ้าเป็นการมาดูอาจารย์ก็จะยืนเลกเชอร์บนเวที ส่วนนักศึกษาก็นั่งดูข้างล่างตาแป๋ว ขำก็หัวเราะ เบื่อก็หาวนอน ปกติแล้วทุกคนจะเงียบกริบ ใครเผลอกระแอมไอในโรงอุปรากรมีหวังถูกค้อนตาคว่ำ แต่ถ้าเป็นการแสดงร่วมกันทั้งอาจารย์และนักศึกษาต้องร่วมแสดง ร่วมออกความเห็น อาจารย์อาจเป็นวาทยกรชี้ไปทางโน้น ดนตรีเครื่องนั้นต้องกระหึ่ม ชี้ทางนี้คนนี้ต้องโหยหวนครวญเพลงสุดฤทธิ์

อุปมานี้เข้าที แต่ถ้ายังไม่เห็นภาพจะเปลี่ยนจากโอเปร่าเป็นงิ้ว โขนให้เข้ากับบรรยากาศแบบไทย ๆ ก็ได้

จับ ความจากคุยกับ ดร.ณรงค์ได้ความรู้และความคิดว่าฝรั่งเขาไม่สอนอะไรกันมาก ๆ ไม่พูดอะไรยาว ๆ แต่เน้นการชี้ให้นักศึกษาซึ่งว่าไปแล้วก็เป็นนักบริหารที่ประสบความสำเร็จ ด้านต่าง ๆมาจากประเทศของตนอยู่แล้วช่วยกันออกความเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแก้ปัญหาสมมุติร่วมกัน สไตล์นี้ฝรั่งใช้กันมาก ไม่เหมือนเมืองไทยที่นิยมเลกเชอร์ บางทียังบอกให้จดอีกด้วย ผมเคยเห็นหลักสูตรปริญญาเอกที่อาจารย์บอกให้จดทีละบรรทัด อ้าว! ย่อหน้า วรรค เปิดเครื่องหมายคำพูด!

เวลาอาจารย์ฝรั่งบรรยาย เขามักจะใช้คำพูดสั้น ๆ กะทัดรัด กินใจ วลีเดียวชวนให้คิดได้ทั้งคืน ดร.ณรงค์เล่าว่า อย่างวิชาหนึ่งเขาสอนเกี่ยวกับความเป็นเอกภาพในองค์กร โปรเฟสเซอร์แกบอกว่าถ้าตราบใดที่ในคณะ มหาวิทยาลัย กรม บริษัท หรือประเทศ ผู้คนยังมีทัศนคติเรียกคนอื่นรวม ๆ ไปว่า “คนพวกโน้น” เรียกตัวเองหรือกลุ่มของตนว่าพวกเราก็อย่าหวังเลยว่าจะมีเอกภาพ บันไดก้าวแรกจึงต้องเป็นการละลายอคติขจัดความรู้สึกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเสียก่อน ทุกคนต้องเป็น “เรา”

ฟังแล้วสะใจเป็นบ้า! ถ้าโปรเฟสเซอร์จากเคลล็อกมาเมืองไทย อาจารย์ช่วยพาแกไปเข้าร้านอาหาร นอนโรงแรม นวดแผนโบราณ ตัดผม จ่ายตลาด แล้วลองตั้งประเด็นถามนำพนักงานว่าไอชอบสีนี้ ยูชอบสีอะไรหน่อยเถอะครับ เดี๋ยวก็รู้สึก!

ดร.ณรงค์เล่าว่าในวิชาการบริหารยุทธศาสตร์ โปรเฟสเซอร์แกตั้งคำถามง่าย ๆ ว่า คนที่คิดจะเป็นนักบริหารต้องตอบตัวเองให้ได้ว่ากะจะทำภารกิจวันนี้ให้ลุล่วง อย่างดีที่สุดหรือกะจะสร้างองค์กรสำหรับวันรุ่งพรุ่งนี้ ฟังแล้วนึกถึงคำพูดที่ว่า คนช่างบ่นมักพูดถึงเรื่องเมื่อวาน นักปกครองมักพูดถึงวันนี้ นักการเมืองมักพูดถึงพรุ่งนี้ แต่รัฐบุรุษจะพูดถึงเดือนหน้าหรือปีหน้า!

ท่านอธิการณรงค์สรุปว่า ท่านติดใจประโยคในวิชาหนึ่งที่ผู้บรรยายสรุปว่าโลกทุกวันนี้ เราอาจผ่องถ่าย (outsource) ทุกอย่างให้คนอื่นทำได้ ยกเว้นชื่อเสียงเกียรติภูมิที่ต้องสร้างเอง ทำแทนกันไม่ได้

ผมถามว่า คุยมาตั้งนานตกลงว่าอาจารย์ได้สูตรการเป็นผู้บริหารที่ดีมาบ้างไหม ดร.ณรงค์ตอบว่าได้ ดร.คีธ เมอร์นิกัน คนแต่งหนังสือเรื่อง “ไม่ต้องทำอะไรให้มันมากมายนักหนาหรอก” (Do Nothing) ให้สูตรการเป็นผู้บริหารไว้ว่า stop working and start leading แปลว่าหยุดทำการทำงานเสียที แล้วจงเริ่มการนำได้แล้ว เท่านั้นก็สำเร็จ

ฟัง แล้วนึกถึงนักการเมืองคนหนึ่งของไทยเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว วันหนึ่งไปยืนรอรับเสด็จสมเด็จย่าที่ดอนเมือง สมเด็จย่ามีพระปฏิสันถารด้วยเพราะทรงคุ้นเคยอยู่ก่อน นักการเมืองท่านนั้นกราบทูลว่าขอพระราชทานแนวทางการทำงาน สมเด็จย่าทรงกระซิบว่า หยุดพูดแล้วเร่งลงมือทำงาน พอทำไปได้สักพักก็เปลี่ยนจากการทำงานไปวัน ๆ หันไปทำงานเชิงรุกอย่างผู้นำ นี่ถ้านักการเมืองท่านนั้นไม่เล่าเอง คนคงไม่รู้ ฟังแล้วตรงกับสูตรของเคลล็อกอย่างประหลาด

ฟังเรื่องราวจาก ดร.ณรงค์แล้ว ผมชักอยากไปเรียนที่เคลล็อกเสียแล้วสิครับ.

ดร.วิษณุ เครืองาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น